4164 จำนวนผู้เข้าชม |
ไม้อัดยาง ในท้องตลาดมีกี่แบบ เทคนิคในการเลือกซื้อไม้อัดยาง
ไม้อัดยาง หรือไม้อัดสลับชั้น ไม้อัดที่ผลิตมาจากไม้ซุงเบญจพรรณประเภทต่างๆ ที่นำมาปอกมาฝานให้เป็นแผ่นบางๆ หลายๆ แผ่น หลายๆ ขนาด และนำหลายๆ แผ่นนั้นมาผสมกาวและเข้าเครื่องอัดกดทับให้มีความแข็งแรงและให้ได้ตามขนาดความหนาที่ต้องการ โดยมีจุดเด่นคือ การจัดให้ไม้บางแต่ละแผ่นมีแนวเสี้ยนขวางตั้งฉากกัน เพื่อเพิ่มคุณสมบัติทางความแข็งแรง และลดการขยายตัวหรือหดตัวในระนาบของแผ่นให้น้อยที่สุด ซึ่งไม้อัดยางเป็นไม้อัดที่ปิดผิวหน้าด้วยไม้ยาง มีลักษณะหน้าออกสีแดง มีหลายเกรดให้เลือก แล้วแต่การนำไปใช้งาน มีแบบภายใน และแบบภายนอก (ทนแดดทนฝนได้ดีกว่า) ขนาดไม้อัดยางมีขนาด ตั้งแต่ 3, 4, 6, 10, 15 ไปจนถึง 20 มม. ความหนาแต่ละขนาดเหมาะกับงานประเภทต่างๆ ที่แตกต่างกัน
ไม้อัดยางแบ่งออกเป็นประเภทตามการใช้งาน ดังนี้
1. ประเภทใช้งานภายนอก (Exterior Plywood) เป็นการนำแผ่นไม้บางมาประสานด้วยกาวชนิดที่กันน้ำได้ ซึ่งทนทานต่อสภาพลมฟ้าอากาศได้ดี ซึ่งกาวชนิดนี้จะเรียกว่า กาวฟีนอล ฟอร์มาดีไฮล์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นวัสดุยึดตรึงผิวระหว่างแผ่นไม้ โดยโรงงานที่ผลิตจะประทับตราเป็น สีแดง ซึ่งหมายถึงคุณสมบัติในการทนน้ำ และความชื้นได้ดี ไม้อัดประเภทนี้เหมาะสมกับงานภายนอกอาคาร หรือใช้งานในพื้นที่ ที่ถูกละอองฝน หรือเปียกชื้นเป็นเวลานานได้ เช่น ใช้เป็นวัสดุทำเรือ ป้ายโฆษณา แบบหล่อคอนกรีต ผนังกั้นห้อง ฝ้าเพดาน เครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ ชั้นวางของ ฯลฯ และแต่ละโรงงานยังแบ่งเกรดของไม้อัดประเภทใช้งานภายนอกออกเป็นเกรดที่หลากหลาย เช่น เกรด AA , A , B , C เป็นต้น
2. ประเภทใช้งานภายใน (Interior Plywood) เป็นการนำแผ่นไม้บางมาประสานด้วยกาวชนิดที่กันน้ำได้ในเวลาจำกัด ซึ่งกาวชนิดนี้จะเรียกว่า กาวยูเรีย ฟอร์มาดีไฮล์ ทำหน้าที่เป็นวัสดุยึดตรึงผิวระหว่างแผ่นไม้ ไม้อัดประเภทนี้เหมาะสมกับงานภายในอาคาร หรือใช้งานในพื้นที่ที่ไม่ถูกละอองฝน หรือไม่เปียกชื้นเป็นเวลานาน เช่น ใช้ทำผนังกั้นห้อง ฝ้าเพดาน เครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ ชั้นวางของ ฯลฯ และแต่ละโรงงานยังแบ่งเกรดของไม้อัดประเภทใช้งานภายในออกเป็นเกรดที่หลากหลาย เช่น เกรด AA, A, B, C เป็นต้น
3. ประเภทใช้งานชั่วคราว (Temporary Plywood) เป็นการนำแผ่นไม้บางมาประสานด้วยกาวชนิดทั่วไป เหมาะสำหรับการใช้งานแบบชั่วคราวเพียงครั้งเดียว หรือใช้งานภายในอาคารในจุดที่ไม่โดนน้ำ และความชื้น เช่น ใช้ในงานแพ๊คสินค้า ใช้ทำป้ายโฆษณาชั่วคราว ลังไม้ งานจิปาถะที่ใช้ครั้งเดียว งานปูพื้นหรือกั้นผนังชั่วคราว ชั้นวางของ ฯลฯ และแต่ละโรงงานยังแบ่งเกรดของไม้อัดประเภทใช้งานชั่วคราวออกเป็นเกรดต่างๆ เช่น เกรด B และ C เป็นต้น
เกณฑ์การแบ่งเกรดคุณภาพของไม้อัด ดังนี้
- เกรด AA เป็นเกรดไม้ที่รับน้ำหนักได้ดี เหมาะสำหรับงานที่ต้องการทำสี พ่นสี หรืองานที่ต้องการคุณภาพความประณีตสูง เช่น งานเฟอร์นิเจอร์ built-in หรืออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น นำไปผลิตไม้อัดสัก หรือไม้อัดแอช เป็นต้น
- เกรด A โดยรวมแล้วมีคุณสมบัติด้อยกว่าเกรด AA เล็กน้อย ในเรื่องของความเรียบ และการทำสี สามารถใช้ในงานเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป พื้นเวทีคอนเสิร์ต ใช้ทำแบบหล่อคอนกรีต ทำชั้นวางของ หรือพื้นชั่วคราว เป็นต้น
- เกรด B ไม้อัดเกรดนี้ไม่สามารถตัด และทำสีได้ ส่วนใหญ่จะใช้ในงานแพ็คสินค้า แบบหล่อ หรือบ้านพักคนงานเป็นต้น
- เกรด C ไม้อัดเกรดนี้อาจมีขนาดความหนาไม้ได้ตามมาตรฐานที่ระบุไว้ ผิวหน้าอาจเห็นเป็นชิ้นไม้ต่อๆ กัน ไม่เรียบเนียน ทำสีไม่ได้ จึงมักนิยมนำไปใช้ทำแบบหล่อสำหรับเทคอนกรีต หรืองานจิปาถะเป็นส่วนใหญ่